ข้อมูลทางวิชาการ (คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย) ของ กุหลาบจุฬาลงกรณ์

  • กุหลาบสมัยเก่า (Old Garden Roses)
  • ชนิด - ไฮบริดเพอร์เพทชวล (Hybrid Perpetual)
  • จำนวนกลีบ - ประมาณ ๔๕ กลีบ
  • ขนาดดอก - ๑๒-๑๕ ซม.
  • ลักษณะพิเศษ - หอมจัด ไม่มีหนาม ดอกใหญ่มาก เจริญเติบโตเร็ว
  • ลักษณะด้อย - อ่อนแอต่อโรคใบจุดสีดำ โรคราสีเทาที่ดอก และแคงเกอร์ที่กิ่ง
  • ประวัติความเป็นมา

กุหลาบที่ปลูกเลี้ยงกันแพร่หลายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะในประเทศเราหรือในต่างประเทศ จะเป็นกุหลาบที่จัดอยู่ในกลุ่ม " กุหลาบสมัยใหม่ " (Modern Roses) ซึ่งหมายถึง กุหลาบที่ผสมพันธุ์ออกสู่ตลาดตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๗ (พ.ศ. ๒๔๑๐) และหลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน กุหลาบที่มีอยู่ก่อนปี ค.ศ.๑๘๖๗ จัดเข้าเป็น "กุหลาบสมัยเก่า" (Old Garden Roses) กุหลาบสมัยเก่าที่เคยปลูกกันในเมืองไทยและยังหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้มีอยู่เพียงสองสามพันธุ์คือ กุหลาบมอญสีชมพูและสีแดง (กุหลาบดามัสก์ - Damask)และอีกพันธุ์หนึ่งคือ กุหลาบไฮบริดเพอร์เพทชวล (Hybrid Perpetual) ที่ไม่รู้ชื่อดั้งเดิม นอกจากชื่อที่รู้จักกันในบ้านเราคือ กุหลาบ "จุฬาลงกรณ์"

ที่มาของชื่อกุหลาบต้นนี้มีกล่าวไว้ในหนังสือ พระประวัติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ทำบุญ ๑๐๐ วัน "เจ้าแสงดาว ณ เชียงใหม่" เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ว่า"ทางด้านไม้ดอกนั้น ได้ทรงปลูกไม้ดอกไม้ใบทุกชนิด โดยเฉพาะในเรื่องของกุหลาบแล้ว พระองค์ทรงเป็น สมาชิกสมาคมกุหลาบแห่งประเทศอังกฤษ ทางสมาคมได้ส่งกุหลาบพันธุ์ใหม่ๆ มาถวายเป็นประจำทุกปี พระองค์ทรงนำเอากุหลาบพันธุ์ต่างประเทศไปปลูกไว้ที่ตำหนักบนดอยสุเทพ (พระราชชายา ฯได้ถวายเป็นสมบัติของพระธาตุดอยสุเทพแล้ว) มากมายหลายพันธุ์ด้วยกัน กุหลาบพันธุ์ที่พระองค์โปรดที่สุดนั้น ได้ทรงตั้งชื่อเพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า "จุฬาลงกรณ์"